List of content

10 เรื่องที่​ "โควิด-19" สอนเทรดเดอร์ไทย


10 เรื่องที่​ "โควิด-19" สอนเทรดเดอร์ไทย

10 เรื่องที่​ "โควิด-19" สอนเทรดเดอร์ไทย 

1. ดูแลเงินเสมอตนนั้น...ไม่มี
คาถาที่เตือนสติของการบริหารจัดการเงินที่ต้องหยิบกลับมาทบทวนอีกครั้งของเหล่าเทรดเดอร์ ณ เวลานี้ เพราะการลงทุนโดยปราศจากความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุน พยายามแสวงหากำไรจนยอมให้คนอื่นดูแล และจัดการเงินลงทุนทั้งหมดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อถึงคราววิกฤติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ "ขาดทุน" บนความไม่เข้าใจ สะท้อนสัจธรรม "ไม่มีใครใส่ใจดูแลเงินของเราได้ดีเท่าตัวเราเอง"

2. เริ่มกระดุมเม็ดแรก คือหัวใจสำคัญก่อนลงทุน
การทำ “Investment Objective Setting : IOS” (การจัดเตรียมพอร์ตลงทุน) เพื่อค้นหาเป้าหมายการลงทุนที่สมเหตุผล โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญที่มักถูกละเลย คือ เราเสี่ยงได้แค่ไหน? เงินลงทุนเย็นเพียงไร?ต้องไม่กู้ ไม่เล่น Margin และแน่ใจว่าไม่ต้องขายขาดทุนตอนขาดเงิน? หรือไม่ตกใจง่ายขายหนีตายเพราะเห็นข่าวรอบๆข้างเค้าขายหนีกัน

***อย่าลืมว่า ขาดทุนไม่ตาย..แต่ขาดสภาพคล่องสิ ตายจริง!!! ต้องคาดหวังผลตอบแทนแค่สมเหตุผล Warren Buffett ทำกำไรแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปีเองนะ หลายครั้งเราเสี่ยงเกินความจำเป็น และเหมาะสม อาจเพราะความโลภ อาจเพราะมีคนชักชวน และระยะเวลาลงทุนก็นานไม่พอ ฮึดไม่พอ
กระดุมเม็ดแรกนี้สำคัญต่อความสำเร็จ ต้องตั้งใจทำ IOS ทำให้ดี "ก่อนลงทุน" เพราะความสำเร็จเกิดจากการเริ่มต้นที่ดีเสมอ

3. ผลตอบแทนเป็นแค่ตัวรอง
หลายคนเริ่มต้นลงทุนจากการตั้งเป้าผลตอบแทนที่คาดหวังก่อน แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกหรือพระเอกตัวจริงในการลงทุน ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ “ความสามารถในการรับความเสี่ยง (Ability to take Risk)” 1 ใน 6 ปัจจัยสำคัญในการทำ IOS
จากนี้ไปแบบประเมินความเสี่ยงต้องใส่ใจ และอย่าหลงดีใจเพียงเพราะได้กำไรตลอดรอดฝั่ง

4. “Fooled by Randomness” มีอยู่จริง ไม่ใช่นิยายปรำปรา
ในหนังสือยกตัวอย่างการกระจายความเสี่ยงการซื้อหุ้น High Tech ที่เกาหลี โดยซื้ออสังหริมทรัพย์ที่อังกฤษ แรกๆ ถือเป็นการลดความเสี่ยงได้ดี แต่ถ้าทุกคนทำเหมือนๆ กัน สิ่งที่คิดว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน (Random) จะเริ่มมีความสัมพันธ์กัน เช่น เหตุการณ์โควิดในปัจจุบัน ทุก Asset classes ตกหมด และยิ่งการมี SET 50 เป็น Benchmark ทำให้เราเจ็บหนัก เพราะทุกกองทุนกระจายการลงทุนกระจุกตัวใน 5 หุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่ใช้คำนวณ SET50 เมื่อราคาน้ำมันลง หุ้น PTT ลง หุ้น AOT ลง เพราะโควิด-19 ทำให้กองทุนพังราบ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับทฤษฎี Efficient Frontier theory เวอร์ชันแรก ที่จะให้น้ำหนักกับหุ้นที่กำไรสูงๆ มากเกินไป จึงต้องแก้ปัญหาการกระจุกตัวด้วย Resemble Efficient Frontier
สรุปคือ เราถูกหลอกว่าเป็น Random ถ้าทุกคนทำเหมือนๆ กัน การกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว SET Index จึงลงแรงกว่าที่ควร และในตลาด FOREX ช่วงนี้ก็เป็นเช่นกันในหลายๆสกุลคู่เงิน โดยเฉพาะคู่เงินหลัก (Major Pairs) EUR/USD, USD/JPY, GBP/USD, USD/CHF เป็นต้น

5. ดอกเบี้ยลดตลาดตราสารหนี้ไม่กำไรเสมอไป
การที่ต้องปิดกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศบางกองที่ลงทุนในหุ้นกู้ที่เป็น Investment Grade ทั้งที่ทางการอเมริกา (FED) ลดดอกเบี้ยเร็วและแรง กองทุนตราสารหนี้ควรกำไรเยอะ แต่ Credit spread กลับวิ่งขึ้นมากกว่าการตกลงของ Treasury yield curve และราคาหุ้นสามัญของบริษัทที่ออกตราสารหนี้ตกแรงมีผลต่อ Credit Risk Model: KMV จึงมีการคาดการณ์ว่า โอกาสผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้เพิ่มขึ้นแล้ว ทำให้คนซื้อหุ้นกู้เรียกร้องผล ตอบแทนจากคนขายหุ้นกู้สูงขึ้นมาก ราคาจึงต้องลดลงมากเพื่อให้คนซื้อได้ผลตอบแทนสูงตามที่เรียกร้อง มูลค่าหน่วยกองทุนจึงลดลงทั้งที่ดอกเบี้ยลงเร็ว และแรง กลับไม่กำไร

6. ไทยเสียอธิปไตยตลาดเงินตลาดทุนให้ต่างชาตินานแล้ว

"ประเทศไทยเสียอำนาจการกำหนดค่าเงินบาทตามดัชนีค่าเงินที่เหมาะที่ ธปท. ประกาศ ทำให้เสียอธิปไตยการกำหนด Yield Curve, Policy Rate และ Credit Spread ต่างชาติจึงโจมตีค่าเงินบาทได้ไม่ยาก" ปัญญา จรรยารุ่งโรจน์ กล่าว พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า ต่างชาติมีความรู้ และได้เปรียบที่สามารถรบทั้ง 2 ตลาด คือ ตลาดเงิน ตลาดอนุพันธ์ (Non deliverable IRS) และตลาดทุน โดยมักจบการโจมตีที่ตลาดทุน (ขายหุ้น ขายพันธบัตร) ดังที่เห็นได้บ่อยครั้ง เราปล่อยให้ต่างชาติทรงอิทธิพลกับตลาดเงิน ตลาดทุนมากเกินไป นานเกินไป ซ้ำร้ายต่างชาติยังได้รับสิทธิทางภาษี คือไม่เสียภาษีดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่ายจากพันธบัตรรัฐบาล ในขณะที่คนไทยกลับต้องเสียภาษี

7. ตลาดตราสารหนี้ควรเป็นลูกเมียหลวง
เนื่องจากตราสารหนี้ คือ แหล่งลงทุนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่ตลาดหุ้น คือ แหล่งลงทุนของกลุ่ม Elite ที่มีอยู่หลักแสนคน ตราสารหนี้จึงมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าตลาดหุ้น บริษัทกู้มากกว่าระดมทุน คนไทยหลายสิบล้านนิยมรายได้จากดอกเบี้ยมากกว่าเงินปันผล เมื่อไม่นานมานี้มีแต่คนบ่นว่าซื้อพันธบัตรไม่ได้ จองหุ้นกู้ไม่ทัน เราไม่ได้ขาดเงินออมแต่เราขาดสภาพคล่องของตลาดรองตราสารหนี้ หรือเรายังไม่ได้พัฒนาตลาดรองตราสารหนี้อย่างจริงจังเลยทำให้ ธปท. ต้องเข้ามาช่วยซื้อตราสารหนี้ ทั้งที่มีนักลงทุน รอซื้อพันธบัตร และหุ้นกู้มากมายรออยู่ และยิ่งปล่อยให้ตลาดแรกยิ่งโต (IPO) ตลาดรองตราสารหนี้ยิ่งสำคัญ ถ้าไม่ทำทุกวิกฤติการเงิน ธปท. คงต้องเหนื่อย

8. หากรักสงบ จงเตรียมตลาดเงิน ตลาดทุน ให้พร้อมสรรพ
เมื่อ "น้ำลด ตอผุด" จนเห็นจุดบกพร่องที่ทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุนอ่อนแอ การเริ่มต้นขุดตอทิ้งตามแนวคิดจากสัมมนาออมดอลลาร์ช่วยชาติ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความพร้อมตลาดเงิน ตลาดทุนในอนาคตให้เป็นรูปธรรม เช่น จัดตั้ง “กองทุนออมดอลลาร์ช่วยชาติ” กองทุนรวมความเสี่ยงต่ำสกุลเงินต่างประเทศ ภายใต้การกำกับของหน่วยราชการไทย และความร่วมมือของ บลจ. เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินในประเทศ ดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับดัชนีค่าเงินที่เหมาะสม และเป็นช่องทางให้ผู้ออมไทยกระจายความเสี่ยงการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะช่วยให้เงินออมที่มีค่าของประเทศไทยไม่รั่วไหลออกไปพัฒนาประเทศที่พัฒนาแล้วตามนโยบายการลงทุนต่างประเทศโดยไม่มีความเข้าใจ จนกลับมาซ้ำเติมให้ระบบการเงินไทยอ่อนแอลง จนกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของนักการเงิน นักเก็งกำไรต่างชาติ

9. รบพร้อมกันมันส์กว่า แบงก์ชาติต้องเป็นพี่เลี้ยง
แบงก์ชาติรบกับนักเก็งกำไรค่าเงินต่างชาติตามลำพังมานาน จึงต้องอาศัยเงินออมชาติไทย เข้ามาเสริมทัพ เพิ่มความแข็งแกร่ง โดยแบงก์ชาติเพียงปรับยุทธวิธีดูแลค่าเงินบาท จากแนวคิดเชิงปริมาณซึ่งที่ผ่านมาเห็นผลน้อย เป็นเชิงอัตรา และช่วยทำหน้าที่ ชี้เป้าอัตราแลกเปลี่ยนตามดัชนีค่าเงินบาท (NEER/REER) และสนับสนุนเครื่องมือเชิงรุกชนิดต่างๆ ตามความเหมาะสมแก่ผู้ออมผ่าน บลจ. ใช้เม็ดเงินของผู้ออมที่มีมาก และกองทุนออมดอลลาร์ อาวุธใหม่ที่ต้องรีบสร้าง รบพร้อมกัน รบคู่ขนานกับยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการต่อสู้ ต้องให้นักโจมตีค่าเงินเข็ดขยาด เลิกลำพอง

10. ไทยกำลังอยู่ในสงครามแบบใหม่ “โจมตีค่าเงินอย่างเสรี”
ที่ผ่านมาการโจมตีค่าเงินอย่างเสรีซ่อนตัวอยู่ในตลาดทุนไทยมานานจนถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของกลไกตลาดทุน ทว่า นี่คือ “สงครามรูปแบบใหม่” ที่ไทยมักจะถูกเริ่มต้นโจมตีค่าเงิน และจบการโจมตีค่าเงินที่ตลาดทุน ตลาดพันธบัตร ถึงเวลาที่ทางการไทย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องตระหนักรู้ว่าการโจมตีค่าเงินอย่างเสรีของมหาอำนาจ “เป็นภัยต่อชาติ” พร้อมเร่งอุดนโยบาย แก้ไขโครงสร้างที่เคยเอื้อให้ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลต่อตลาดเงินตลาดทุนไทยให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะ “สงครามค่าเงิน เป็นสงครามที่เราไม่มีสิทธิ์แพ้ เพราะเดิมพันสูง ด้วยอนาคตของลูกหลานไทย”

จะเห็นได้ว่า “โควิด-19” มา ปัญหาจึงผุดให้เห็น สอนเทรดเดอร์ไทยให้เห็นจุดบกพร่องในอดีตที่ผ่านมาเพื่อนำไปสู่แก้ไข และพัฒนาให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยอาศัยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการต่อสู้ให้ได้อธิปไตยกลไกตลาดทุนคืนมาจากมหาอำนาจ เร่งพัฒนาตลาดรองตราสารหนี้ และเร่งจัดตั้งกองทุนออมดอลลาร์ช่วยชาติ อาวุธใหม่ง่ายๆ แต่ทรงพลัง ไว้ปกป้องค่าเงินและตลาดทุนไทย เช่นเดียวกับการพยายามทวงคืนสุขภาพที่ดีของคนไทยจาก “โควิด-19” เพื่ออนาคตของลูกหลาน และความมั่นคงของชาติไทย