List of content

เจาะลึก! ทำความรู้จักตราสารอนุพันธ์ (Derivative) คืออะไร ?


ทำความรู้จักตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ที่ทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง

ในโลกของการลงทุนที่มีทั้งความผันผวน โอกาส กำไร และขาดทุน ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) จึงถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นักลงทุนเลือกเข้ามาลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง หลายคนอาจจะสงสัยว่าตราสารอนุพันธ์สามารถทำกำไรได้ทั้งสองสภาวะตลาดจริงไหม ? วันนี้ผมจะพาไปไขข้อสงสัยพร้อมกับเจาะลึกว่า ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) คืออะไร ? และเสน่ห์ของการลงทุนในตลาดนี้คืออะไรกันในบทความนี้ครับ

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) คืออะไร ?

ตราสารอนุพันธ์ หรือ Derivative คือ ตราสารทางการเงินที่มีมูลค่าอ้างอิงอยู่กับสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยมูลค่าของตราสารนั้นก็จะขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ถูกอ้างอิง เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนของคู่สกุลเงินต่าง ๆ เป็นต้น 

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) มีกี่ประเภท ?

ตราสารอนุพันธ์จะสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะและภาระผูกพันของแต่ละสัญญาโดยจะแบ่งได้ ดังนี้

1. สัญญาฟอร์เวิร์ด (Forward)

สัญญาฟอร์เวิร์ด (Forward) คือ สัญญาที่ทำการซื้อ - ขายสินค้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำการตกลงกัน ซึ่ง Forward จะเป็นสัญญาประเภทแรก ๆ ของตราสารอนุพันธ์ ทำให้ Forward จะมีความคล้ายคลึงกับ Futures แต่จะมีข้อแตกต่างตรงที่ Futures จะเป็นสัญญาที่มีความเป็นทางการมากกว่าและอยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลครับ

2. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures)

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) คือ สัญญาการซื้อขายประเภทหนึ่ง โดยลักษณะพิเศษของสัญญาประเภทนี้คือผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงซื้อ - ขาย สินทรัพย์ที่อ้างอิงภายในระยะเวลาและราคาที่กำหนด โดยฝั่งผู้ซื้อสัญญาจะมีสถานะซื้อ (Long Position) ส่วนฝั่งผู้ขายสัญญาจะมีสถานะขาย (Short Position) โดยสัญญา Futures จะมีความเป็นทางการและมีรูปแบบสัญญาที่ค่อนข้างแน่นอน

3. สัญญาสวอป (Swap)

สัญญาสวอป (Swap) คือ สัญญาทางการเงิน พูดง่าย ๆ ก็คือ เอาเงินมาแลกเปลี่ยนกันนั่นเองครับ โดยการทำสัญญาประเภทนี้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย จะทำการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดหรือผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ทำการอ้างอิงกันในอนาคต สัญญา Swap ที่นิยมใช้ในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

Interest Rate Swap (IRS)

Interest Rate Swap คือ สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ที่ทั้ง 2 ฝั่งจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบที่ต่างกัน คือ ฝ่ายหนึ่งจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่แต่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว และอีกฝ่ายจะจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัวและจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราคงที่

Currency Swap

Currency Swap คือ สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยจะทำกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสกุลเงินทั้ง 2 สกุลเงิน หรือทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนครับ

4. สัญญาออปชัน (Option)

สัญญาออปชัน (Option) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “สัญญาสิทธิ” เป็นสัญญาที่ผู้ซื้อจะได้รับสิทธิในการซื้อ - ขาย สินทรัพย์ที่อ้างอิงตามราคาที่ได้ทำการกำหนดไว้ล่วงหน้าครับ โดยสัญญาประเภทนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

Call Option

Call Option คือ สิทธิในการซื้อ

Put Option

Put Option  คือ สิทธิในการขาย

 

ทำไม ? บางครั้งเราอาจจะเคยได้ยินว่า ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) แบ่งได้ 2 ประเภท คือ สัญญา และสิทธิ ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกันก่อนว่าสัญญา คือ ข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำการตกลงกัน ส่วนสิทธิ คือ สิ่งที่เราได้มาหรือซื้อมาแล้วเรามีสิทธิในสิ่งนั้น ๆ ครับ ดังนั้น ตราสารอนุพันธ์ประเภท Futures, Forward และ Swap จึงจัดอยู่ในประเภทของสัญญา ส่วน Option จะอยู่ในประเภทของสิทธินั่นเองครับ

 

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ซื้อขายผ่านช่องทางไหนได้บ้าง ?

เว็บไซต์ TFEX ตลาดซื้อขายสัญญาอนุพันธ์ (Derivative)

ตราสารอนุพันธ์ที่ซื้อขายกันทั่วโลกในปัจจุบันจะมี 4 ประเภทใหญ่ ๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นครับ แต่สำหรับในประเทศไทยของเรานั้นการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เราจะดำเนินการผ่านตลาด TFEX ซึ่งตลาด TFEX ถือเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาประเภท Futures และ Option โดย TFEX จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต นั่นเองครับ

 

นอกเหนือจากที่กล่าวมานั้น ก็ยังมีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์บางประเภทที่ไม่สามารถซื้อ-ขายใน TFEX ได้ เช่น DFDs และ Rolling Spot Forex เป็นต้น การซื้อขายตราสารประเภทนี้สามารถซื้อขายผ่านโบรกต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้น ๆ ได้ แต่การซื้อ - ขายผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศก็มีความเสี่ยงที่สูงมากเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทย

     
  รู้หรือไม่ ? ปัจจุบันสินค้าที่สามารถทำการซื้อขายในตลาด TFEX ได้มีอยู่ 5 กลุ่มสินค้าด้วยกัน ได้แก่ ตราสารทุน, โลหะมีค่า, ตราสารหนี้, สินค้าเกษตร และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  
     

 

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลงจริงไหม ?

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) สามารถทำกำไรได้ทั้งในภาวะที่ตลาดเป็นขาขึ้นและขาลงจริงครับ ผมจะขอยกตัวอย่าง การทำกำไรจากตลาดทั้งภาวะขาขึ้นและขาลง ดังนี้

ตัวอย่าง การทำกำไรจากตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ในตลาดขาขึ้น

  • Long Futures : ซื้อสัญญา Futures ในราคาที่ต่ำ และทำการขายเมื่อสินทรัพย์ที่ทำการอ้างอิงในสัญญาปรับตัวสูงขึ้น

ตัวอย่าง การทำกำไรจากตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ในตลาดขาลง

  • Short Futures : ขายสัญญา Futures ในอัตราที่สูง และซื้อกลับในราคาที่ต่ำลงเมื่อสินทรัพย์ที่อ้างอิงในสัญญาปรับตัวลง

แม้ตราสารอนุพันธ์จะสามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้น - ขาลง แต่ก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องระวังอยู่ ทางที่ดีควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนทำการลงทุนครับ

 

ทำไมตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ถึงน่าลงทุน ?

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) มีความน่าสนใจหลายอย่าง ดังนี้

สามารถลงทุนได้แม้มีเงินทุนต่ำ

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) สามารถใช้ Leverage ในการลงทุนได้ นักลงทุนจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องของเงินลงทุน แม้คุณจะมีเงินลงทุนต่ำก็สามารถลงทุนในตราสารอนุพันธ์ได้ครับ

สามารถทำกำไรได้ทั้งสภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) สามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้น - ขาลง ทำให้แม้ในสภาวะที่ตลาดเกิดความผันผวน ตราสารอนุพันธ์ก็ยังสามารถทำกำไรได้ครับ แต่อย่างนั้น ก็อย่าลืมวางแผนประเมินความเสี่ยงก่อนทำการลงทุนนะครับ

มีการลงทุนให้เลือกหลายประเภท

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) มีรูปแบบการลงทุนเลือกลงทุนหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น Futures, Option, Swap และอื่น ๆ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ก็จะอ้างอิงกับสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

ความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์ (Derivative)

ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (Derivative)

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) มีความเสี่ยงที่สูงมากเนื่องจากสินทรัพย์ต่าง ๆ ในตราสารอนุพันธ์จะอ้างอิงราคาที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตในการทำกำไร ซึ่งการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตก็ถือเป็นเรื่องที่ยากเกินการคาดคะเน เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมรวมถึงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ที่เราทำการลงทุน และเหตุการณ์เหล่านี้เราก็ไม่มีทางที่จะรู้ล่วงหน้าได้ ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจในสินทรัพย์ก่อนเข้ามาลงทุนจริงเสมอครับ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ (Derivative)

Derivative Warrants คืออะไร ?

 ➢ Derivative Warrants คือ ใบแสดงสิทธิอนุพันธ์ในตราสารอนุพันธ์ที่ถือเป็นหุ้นชนิดหนึ่ง โดยมีราคาอ้างอิงตามดัชนีอ้างอิงนั้น ๆ โดย DW (Derivative Warrant) จะสามารถซื้อขายได้บนตลาดหลักทรัพย์ทั่วไปครับ

ตลาดอนุพันธ์ คืออะไร ?

➢ ตลาดอนุพันธ์ คือ ตลาดที่เป็นศูนย์กลางสำหรับทำการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ซึ่งเป็นตราสารที่มีการอ้างอิงมูลค่าอยู่กับสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งครับ

สัญญาสวอป (Swap) และสัญญาออปชัน Option ต่างกันอย่างไร ?

➢ สัญญาสวอป (Swap) เป็นสัญญาทางการเงินที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจะแลกเปลี่ยนกัน ส่วนสัญญาออปชัน (Option) จะเป็นสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อในการซื้อ - ขาย ครับ

สรุป ตราสารอนุพันธ์ (Derivative)

ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) เป็นตราสารทางการเงินที่นำเอามูลค่าของตราสารไปอ้างอิงไว้กับสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ หุ้น รวมถึงสกุลเงินต่างประเทศ โดยมูลค่าของตราสารอนุพันธ์จะผันผวนไปตามการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ที่อ้างอิงนั้น ๆ ทำให้ตราสารอนุพันธ์สามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง 

อย่างไรก็ดี ตราสารอนุพันธ์นั้น แม้จะสามารถทำกำไรได้ทั้งในสภาวะที่ตลาดผันผวน แต่การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนเสมอไปครับ หากคุณคิดจะลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ก็ขอแนะนำให้ศึกษาตลาดนี้ให้เข้าใจและประเมินความเสี่ยงรวมถึงวางแผนการลงทุนของคุณก่อนเริ่มทำการลงทุนเพื่อลดโอกาสในการขาดทุนครับ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้จากแหล่ง ดังต่อไปนี้

อัพเดตข่าวสารการลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ : คลิกที่นี่

อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมที่น่าใช้ : คลิกที่นี่

อ่านรีวิวโบรกเกอร์ที่ควรระวัง : คลิกที่นี่

อ่านบทความเพิ่มเติม : FXBROKERSCAM