ระวัง! โดนหลอกลงทุน ในยุคที่การลงทุนเป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้ปัจจุบันเราจะพบข่าวการหลอกลงทุนมากมายและมาในรูปแบบที่หลากหลาย การลงทุนจึงเปรียบเสมือน “ภัยร้าย” ที่มาในรูปแบบของโอกาส หลายคนที่ตกเป็นเหยื่อการลงทุนสูญเสียเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต และหลายคนที่มีความหวังกับคำว่า “ผลตอบแทนดี” การันตีผลตอบแทนที่แน่นอน แต่หารู้ไม่ว่า ในโลกของการลงทุนนั้นมีมิจฉาชีพแฝงอยู่แทบทุกรูปแบบ
วันนี้ทีมงาน FXbrokerscam จะพาคุณไปเจาะลึกและทำความรู้จักรูปแบบของการหลอกลงทุน เพื่อให้คุณรู้เท่าทันกลโกงและจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพครับ
⛔บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลงทุนในยุคปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด⛔ |
การหลอกลงทุน คืออะไร ? |
การหลอกลงทุน คือ การที่มิจฉาชีพหลอกลวงให้ผู้เสียหายนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์หรือธุรกิจต่าง ๆ โดยมักอ้างว่า จะได้รับผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาอันสั้นและให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจะได้รับเงินจำนวนนั้นจริง ๆ ซึ่งปัจจุบันการหลอกลงทุนสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและยังคงมีผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แม้จะมีข่าวผู้เสียหายโดนหลอกให้ลงทุนแล้วออกมาเตือนภัยมากมาย แต่ก็ยังมีคนหลงเชื่อคำลวงจากกลุ่มคนเหล่านี้อยู่
5 สัญญาณเตือน! ว่าคุณกำลังโดนหลอกลงทุน |
ทีมงาน FXbrokerscam ได้รวบรวม 5 สัญญาณเตือนที่อาจจะกำลังบ่งบอกว่า คุณกำลังโดนหลอกให้ลงทุนอยู่ โดยสัญญาณเตือนที่ว่ามี ดังนี้
1. หลอกให้ตายใจ โดยการโอนเงินให้ในครั้งแรก
2. ให้เพิ่มเงินลงทุนเรื่อย ๆ โดยอ้างว่า จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น
3. เสนอผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาอันสั้น และการันตีผลตอบแทนที่แน่นอน
4. พาเข้ากลุ่มแชทที่มีผู้เสียหายรายอื่นและหน้าม้าเพื่อประชาสัมพันธ์การลงทุนในรอบต่อ ๆ ไป
5. บัญชีที่หลอกให้โอนเงินมักเป็นบัญชีม้า หรือบัญชีที่มีชื่อไม่ตรงกับบุคคลหรือองค์กรที่นำมาแอบอ้าง
หากคุณพบเจอสัญญาณดังกล่าวหรือเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการชักชวนให้ลงทุน ควรหยุดการติดต่อกับผู้ที่ชักชวนทันที และตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนครับ
ป้องกันการโดนหลอกลงทุนอย่างไรได้บ้าง ? |
แม้การลงทุนเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวแต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ส่า ปัจจุบันผู้คนโดนหลอกให้ลงทุนเป็นจำนวนมาก แม้จะมีข่าวออกมาแทบทุกวัน โดยวิธีการป้องกันการโดนหลอกลงทุนมี ดังนี้
ไม่หลงเชื่อคำลวงที่เกินจริง
ไม่โลภ ไม่เห็นแก่ผลตอบแทนสูงจนเกินไป
ไม่ส่งข่อมูลส่วนตัวที่มีความสำคัญให้ใครง่าย ๆ
ตรวจสอบข้อมูลและความน่าเชื่อถือก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
สงสัยว่ากำลังโดนหลอกลงทุนจะแจ้งที่ไหนได้บ้าง ? |
หากคุณสงสัยว่า ตัวคุณเองหรือผู้ใกล้ชิดกำลังโดนหลอกให้ลงทุนอยู่สามารถติดต่อและแจ้งเบาะแสได้ที่ช่องทางต่อไปนี้ได้เลยครับ
โทร 1359 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สศค.
โทร 1202 การสอบสวนคดีพิเศษ
โทร 1441 ตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท)
โทร 1207 ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต (สำหรับการหลอกลงทุน โดยอ้างสินทรัพย์การลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต)
หากคุณตกเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุนจะติดต่อที่ไหนได้บ้าง ? |
หากคุณรู้ตัวว่า กำลังโดนหลอกลงทุนหรือสงสัยว่าตนเองกำลังจะตกเป็นเหยื่อสามารถทำตามขั้นตอนได้ ดังนี้
5 รูปแบบการหลอกลงทุนที่คุณต้องระวัง! |
เราได้รวม 5 รูปแบบการหลอกลงทุนที่คุณควรระวัง รวมถึงลักษณะการหลอกลงทุน จุดสังเกต รวมถึงวิธีป้องกัน ดังนี้
หลอกลงทุนผ่านแชร์ลูกโซ่
หลอกลงทุนผ่านการดาวน์โหลดแอป
หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน
หลอกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ
หลอกลงทุนโดยการแอบอ้างว่าเป็นบุคคลหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ
หลอกลงทุนผ่านแชร์ลูกโซ่ |
ลักษณะการหลอกลงทุน : ลักษณะการหลอกลงทุนประเภทนี้จะเน้นสร้างเครือข่ายให้คนมาเข้าร่วมลงทุน หากเชิญชวนคนเข้ามาลงทุนได้มากเท่าไหร่ เปอร์เซ็นต์ที่จะได้ผลตอบแทนก็มากขึ้น โดยจะอ้างว่าสามารถทำกำไรจากเงินที่เรานำไปลงทุนได้และจะมีการนัดวันสำหรับโอนเงินให้แก่ผู้เสียหายและผลัดวันไปเรื่อย ๆ สุดท้ายหากคนไม่สนใจเข้าร่วมเครือข่ายแล้ว มิจฉาชีพก็จะปิดตัวและหลบหนีไปทันที
ให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง
พาเข้ากลุ่มแชทที่มีทั้งผู้เสียหายและหน้าม้า
อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุนหรือมีประสบการณ์การลงทุนมานาน
มักจะอ้างว่าหากชวนคนมาร่วมลงทุนเพิ่มก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิม
วิธีการป้องกัน :
ไม่หลงเชื่อในผลตอบแทนที่สูงเกินจริง
ศึกษาหาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนเริ่มตัดสินใจลงทุน
ติดต่อสายด่วนหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อรีเช็กข้อมูล
หมั่นติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการหลอกลงทุนอยู่เสมอเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ
รู้หรือไม่ ? หากคุณเป็นผู้เสียหาย แต่ชักชวนผู้อื่นมาลงทุนแชร์ลูกโซ่ก็เท่ากับว่า ตัวคุณเองอาจมีความผิดเช่นกัน |
หลอกลงทุนผ่านการดาวน์โหลดแอป |
ลักษณะการหลอกลงทุน : ลักษณะการลงทุนประเภทนี้จะเป็นการแนะนำให้โหลดแแอปเพื่อทำการลงทุน โดยการลงทุนผู้เสียหายจะสามารถถอนเงินออกจากแอปได้ในครั้งแรกแต่ในรอบถัด ๆ ไป การถอนเงินจะมีปัญหา ถอนช้า ถอนเงินแล้วเงินไม่เข้า หรืออ้างว่าต้องทำตามเงื่อนไขก่อนจึงจะสามารถถอนเงินได้ เช่น ต้องโดนเงินจำนวนตามที่มิจฉาชีพกำหนดก่อนจึงจะถอนเงินสำเร็จ
หลอกให้โหลดแอปเพื่อทำการลงทุน
ส่ง SMS ให้คลิกลิงก์ดาวน์โหลดแอป
แอปที่มิจฉาชีพให้ดาวน์โหลดมักไม่อยู่ใน App Store และ Play Store
วิธีการป้องกัน :
ไม่คลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก
ระมัดระวังเรื่องการให้สิทธิ์แอปพลิเคชัน
ตรวจสอบข้อมูลและรีวิวของแอปพลิเคชันก่อนดาวน์โหลด
เปิดใช้งานฟังก์ชันตรวจสอบความน่าเชื่อถือบนสมาร์ทโฟน
หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน |
ลักษณะการหลอกลงทุน : มิจฉาชีพจะสร้างบัญชีปลอมบนสื่อโซเชียลเพื่อเข้ามาทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับผู้เสียหาย โดยจะมีการพูดคุยเชิงชู้สาว จากนั้นจะอ้างว่า หากนำเงินไปร่วมลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่สูง การันตีผลตอบแทน โดยจะโอนเงินลงทุนก้อนแรกคืนแก่ผู้เสียหายและจะชักชวนให้ลงทุนในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็หนีหายไปในที่สุด
ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียปลอม
หลีกเลี่ยงการพบเจอตัวจริง
ชักชวนให้ลงทุนและกดดันให้เริ่มลงทุน
สร้างความสัมพันธ์กับผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว
วิธีการป้องกัน :
ไม่หลงเชื่อในโปรไฟล์และคำพูดดูดี
หาข้อมูลให้รอบคอบและตั้งสติก่อนตัดสินใจลงทุน
ตรวจสอบข้อมูลและประวัติของผู้ที่ชวนให้ลงทุนให้ดี
หากเป็นการลงทุนโดยอ้างอิงสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต ให้ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ SEC Check First
หลอกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ |
ลักษณะการหลอกลงทุน : รูปแบบการหลอกลงทุนประเภทนี้จะเป็นการหลอกโดยการอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ เช่น ทองคำ คริปโตเคอร์เรนซี และ Forex เป็นต้น มิจฉาชีพจะสร้างเรื่องราวและโปรไฟล์ของตนเองให้มีความน่าเชื่อถือ เพื่อหลอกล่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและร่วมลงทุน โดยจะเสนอผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาอันสั้น
กดดันให้ตัดสินใจลงทุน
สร้างโปรไฟล์ที่ดูดีเกินจริง
ช่องทางการติดต่อไม่มีความเป็นทางการหรือไม่มีความน่าเชื่อถือ
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ชักชวนไม่มีความน่าเชื่อถือและตรวจสอบไม่ได้
วิธีการป้องกัน :
ไม่หลงเชื่อข้อมูลที่เกินจริง
สอบถามและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการลงทุน
ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดก่อนเริ่มทำการลงทุน
ตรวจสอบตัวตนของผู้ชักชวนว่ามีอยู่จริงหรือไม่ หรือมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
หลอกลงทุนโดยการแอบอ้างว่าเป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีชื่อเสียง |
ลักษณะการหลอกลงทุน : แอบอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญในการลงทุน ผู้มีประสบการณ์ในตลาดลงทุน นักวิเคราะห์ อาจารย์สอนการลงทุน รวมถึงการแอบอ้างว่ามาจากองค์กรที่มีชื่อเสียงสามารถเชื่อถือได้ โดยจะหลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีบุคคล หรือหลอกให้ลงทุนและทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม มีการรับประกันผลตอบแทนที่จะได้รับโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการลงทุน
หลอกให้เพิ่มเงินทุนในการลงทุนไปเรื่อย ๆ
บัญชีที่ให้โอนมักเป็นบัญชีม้าหรือไม่มีที่มาที่ไป
แอบอ้างว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ในการลงทุน
วิธีการป้องกัน :
ตัวอย่างเคสการหลอกลงทุนที่เกิดขึ้นจริง |
“เท้าความไปเมื่อปีที่แล้วผมรู้จักกับคนหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนผมเป็นเซลล์ขายของได้ยินเขาบอกว่า เล่นหุ้นเล่นแชร์อะไรนี่แหละแล้วทำให้มีเงินเยอะแยะมากมาย ไอ้ตัวเราก็อยากจะมีเงินใช้ไม่ขาดมือ เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดีเท่าไหร่จึงกระโดดเข้าไปในนามของบริษัท SGB แรก ๆ ก็ลงทุนไม่เยอะ แต่มีการปันผลให้ทุก ๆ วัน วันละ 1% ของยอดการลงทุน โดยมีแพ็กเกจต่าง ๆ ให้ลงทุน ทุก ๆ เย็นจะมีเปิดไลน์ห้อง Conference ต่าง ๆ ให้คนใหม่ ๆ เข้ามาฟังการพูดจาหว่านล้อมให้ร่วมลงทุน ถามว่า ผมพอรู้ไหม ผมรู้ครับว่านี่คือ แชร์ลูกโซ่แต่ทำไมถึงอยากลงไปเพราะคิดว่า มันจะทำผลกำไรให้ และจะทำให้เรารวย เราโง่เอง..... มีใครโดนบริษัทฯ นี้บ้างมาแชร์กันเรารวมตัวกันไปฟ้องร้องดีไหม? หรือให้เจ้าหน้าที่จัดการอะไรยังไง?”
อ้างอิง : Pantip
“ผมเป็นเหยื่อแก๊ง Hybrid scam ให้โหลดแอป App Metacomp โอนเงินเข้าบัญชีม้าแล้วเปลี่ยนเป็น USDT เพื่อไปตั้งบนบัญชีใน App หลอกหมดตัวครับ !!! ตั้งกระทู้แค่อยากรู้ว่า มีคนโดนหลอก App อวตานชื่อเดียวกันมั้ย? แล้วไปยื่นเรื่องกับ สอท. หรือตำรวจยังไงกันบ้างแล้ว? ผมโดนช่วง 19-25 เมษายน 2567 นี่เอง สงกรานต์แห่งความตายของผมเลย ตอนนี้ยังจิตตกมาก ๆ ได้แต่รอดูข่าวทลายแก๊ง Hybrid Scam รอดูโพสต์ ปปง. ยิ่งคุ้มครองสิทธิ์ลักษณะคดี Hybrid Scam ยังมีแค่ครั้งเดียวที่เห็นโพสต์สำหรับช่วงปี 66 นะครับ”
อ้างอิง : Pantip
“เริ่มตอนแรกก็คุยปกติ และต่อด้วยหลอกให้รัก หลัง ๆ มาชวนลงทุนช่วงแรก ๆ เล่นใน Deeplcoin ก็ถอนได้ปกติ เค้าแนะนำให้เราลงทุนเยอะขึ้น โดยผมกู้บัตรเครดิตมาลงทุน 6 แสน มาเทรดอีกและพอเทรดไปเรื่อย ๆ ได้กำไรเยอะมาก พอจะถอนแล้วถอนไม่ได้ เค้าบอกให้เราจ่ายค่ายืนยันข้อมูล 5000 USDT ก่อน ถึงจะสามารถถอนได้ และต้องหาทุนมาเติมภายใน 7 วัน ไม่งั้นบัญชีของเราจะโดนอายัด คนที่ชวนเล่นก็ช่วยเราอีกส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ได้โอนกำลังรอท่าที”
อ้างอิง : Pantip
“ใช้เวลาเดือนกว่าทำเป็นสอนทุกวันตอนทุ่มครึ่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้ปรึกษาได้ จากนั้น ชักชวนให้ลงทุนในหุ้น แรกเริ่มเป็นหุ้นไทยในพอร์ตของตัวเองนี่แหละจากโบรกเกอร์ที่ถูกต้องของตลาดหลักทรัพย์ หลังจากนั้น จะชักจูงเหยื่อไปลงทุนในหุ้นสหรัฐ โดยใช้แอป OSK. การลงทุน จะโอนเข้าในนามบริษัท มีหลายบริษัทนะ จะเพิ่มเงินเข้าไปทุกวัน เพราะหุ้นที่ให้นั้นจะแพงขึ้นมาก ต้นเดือนธันวาชิ่งออกจากกลุ่มเลยใครโดนมาเล่ากัน”
อ้างอิง : Pantip
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการหลอกลงทุน |
➢ การหลอกลงทุน หมายถึง การหลอกว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ทองคำ กองทุนรวม คริปโตเคอร์เรนซี และ Forex เป็นต้น โดยใช้กลอุบายให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและนำเงินไปลงทุนในโครงการหรือธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริงครับ
➢ เมื่อคุณรู้ตัวว่า กำลังโดนหลอกให้ลงทุน ควรจะแจ้งความทันทีครับ โดยช่องทางการแจ้งความนั้นสามารถแจ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน Call Center กองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท) หรือติดต่อเบอร์ 1441
➢ ศึกษาข้อมูลทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน เพราะมิจฉาชีพมักจะเลือกเหยื่อจากคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน ดังนั้น หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อของการลงทุน คุณควรศึกษาข้อมูลการลงทุนและรีเช็กความเป็นมาของบริษัทหรือบุคคลที่ชักชวนทำการลงทุนครับ
สรุป การหลอกลงทุน |
จะเห็นได้ว่าการหลอกให้ลงทุนเกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน และสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ในทุกรูปแบบการหลอกลงทุนจะมีจุดสังเกตคล้าย ๆ กัน คือ เสนอผลตอบแทนที่สูง การันตีผลตอบแทนที่แน่นอน และหลังจากนั้นจะหลอกให้เพิ่มเงินทุนในการลงทุนเรื่อย ๆ และจบด้วยการหนีหายไปในที่สุด โดยการหลอกลงทุนที่สามารถพบได้บ่อยมี 5 รูปแบบ ดังนี้
หลอกลงทุนผ่านแชร์ลูกโซ่
หลอกลงทุนผ่านการดาวน์โหลดแอป
หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน
หลอกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ
หลอกลงทุนโดยการแอบอ้างว่าเป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีชื่อเสียง
ดังนั้น หากรู้สึกว่าคุณหรือคนรอบตัวกำลังโดนหลอกให้ลงทุน สามารถแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองและคนรอบข้างและก่อนการลงทุนในตลาดใด ๆ ควรศึกษาข้อมูล พิจารณาความเสี่ยง รวมถึงวางแผนการลงทุนให้ดีก่อนเริ่มทำการลงทุนนะครับ
จงจำไว้ว่าไม่มีการลงทุนใดที่ไม่ใช้ความรู้และความเข้าใจในการลงทุน และไม่มีการลงทุนใดที่การันตีผลตอบแทนที่สูงและสม่ำเสมอในทุก ๆ เดือน |
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้จากแหล่ง ดังต่อไปนี้
อัพเดตข่าวสารการลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ : คลิกที่นี่
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมที่น่าใช้ : คลิกที่นี่
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ที่ควรระวัง : คลิกที่นี่
อ่านบทความเพิ่มเติม : FXBROKERSCAM