ในทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้แก่การใช้ชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่า อินเทอร์เน็ตก็เป็นภัยเงียบที่มีความอันตรายแฝงอยู่ด้วย! เพราะการเชื่อมต่อได้ง่ายจากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องโหว่ให้กับเหล่าอาชญากรไซเบอร์
ดังนั้น ในวันนี้ทีมงาน Fxbrokerscam จะพาทุกท่านมารู้จักกับอีกโลกหนึ่งของอินเทอร์เน็ต อย่าง Dark Web แหล่งรวมทุกกิจกรรมที่มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย? โดยจุดประสงค์หลักของเว็บไซต์นี้ คือ เพื่อใช้รักษาความเป็นส่วนตัวและเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของรัฐบาล ซึ่ง Dark Web คืออะไร? ถูกใช้เป็นเครื่องมือของบรรดาแฮกเกอร์อย่างไร? ในบทความนี้มีคำตอบครับ
ในปัจจุบันเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ Surface Web, Deep Web และ Dark Web โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
Dark Web คือ เว็บไซต์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้บน Search Engine ทั่วไป เนื่องจากแรกเริ่มนักพัฒนาเว็บไซต์ต้องการให้เว็บทำงานอย่างเป็นส่วนตัว ทำให้ Dark Web มีกฎเกณฑ์และมีความซับซ้อนในการเข้าถึงเป็นอย่างมาก โดยเบราว์เซอร์ที่ใช้งานจะจำกัดเฉพาะเบราว์เซอร์นั้น ๆ
แม้ว่า Dark Web จะเป็นเว็บไซต์ที่ป้องกันความเป็นส่วนตัว ทำให้ถูกใช้ในการแสดงออกอย่างเสรีสำหรับผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่ข้อเสียของ Dark Web กลับมีมากกว่า เพราะจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจรกรรมข้อมูลของบรรดาแฮกเกอร์ เพียงแค่คุณเปิดเว็บไซต์คลิกเดียว ข้อมูลของคุณก็จะตกอยู่ในมือของแฮกเกอร์ได้ง่าย ๆ แล้วครับ
ด้วยเหตุนี้เอง Dark Web จึงเป็นเหมือนตลาดมืดที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลลับ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด, อาวุธปืน และกิจกรรมที่ส่งเสริมความรุนแรง เป็นต้น การโจรกรรมและปลอมแปลงข้อมูล ตลอดจนการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอื่น
ตัวอย่างเช่น Silk Road เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ตลาดมืดขนาดใหญ่ที่ถูกจับกลุ่ม โดย FBI ในปี 2013 ซึ่งภายในเว็บไซต์นี้มีการซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด, อาวุธปืน หรือแม้แต่การจ้างวานฆ่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ก่อตั้ง Silk Road อย่าง Ross Ulbricht ถูกจำคุกตลอดชีวิต
ดาร์กเว็บ ตลาดมืด ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อต้นปี 2000 เป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง Freenet ของนักศึกษาคอมพิวเตอร์ Ian Clarke ซึ่งจุดประสงค์ในการสร้างเว็บนี้ คือ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้ใช้งานที่ต้องการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระในโลกอินเทอร์เน็ต โดยปราศจากการควบคุมของรัฐบาลนั่นเอง
เมื่อกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ให้ทุนสนับสนุนโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า TOR (The Onion Router) โดยจุดประสงค์ในการสร้าง Browser นี้ คือ เพื่อส่งข่าวสารสำคัญในพื้นที่ไม่ปลอดภัย ทำให้ TOR กลายเป็น Dark Web Browser ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
Dark Web ทำงานอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความซับซ้อน เพราะเครือข่ายดังกล่าวจงใจซ่อนไว้ด้วยการล็อกรหัสผ่านที่แน่นหนา ทำให้การเสิร์จหาบน Search Engine บน Google ไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ใช้งานต้องใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางในการเข้าถึงเท่านั้น
ดังนั้นแล้ว Dark Web จึงเป็นเครือข่ายที่มีการใช้เฉพาะบุคคลเท่านั้น โดยมีทั้งการดำเนินงานจากหน่วยงานรัฐ หรือกลุ่มลับต่าง ๆ เนื่องจากต้องการมุ่งเน้นถึงความเป็นส่วนตัว ทำให้การดำเนินงานของ เครือข่ายนี้ป้องกันการเข้าถึงของเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการบนอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
โดยปกติแล้ว Dark Web จะขายสินค้าที่ผิดกฎหมายทุกชนิด ซึ่งสินค้าบางชนิดกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาชญากรไซเบอร์มักจะทำการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นผ่านการเข้าถึงข้อมูลขององค์กรขนาดใหญ่ทั้งหลาย หลังจากนั้น พวกเขาจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปขายบน Dark Web จนสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล เพราะมีผู้ซื้อมากมายที่ต้องการปลอมแปลงข้อมูล เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง
การซื้อขายข้อมูลบน Dark Web นั้นมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่การแฮ็กข้อมูลผ่านที่อยู่อีเมล เพื่อค้นหารายละเอียดข้อมูลธนาคารหรือบัตรเครดิต จากนั้น แฮกเกอร์จะปลอมแปลงบัตรเครดิตปลอมขึ้นมาและนำบัตรเครดิตปลอมนั้นไปใช้จ่ายแทนเจ้าของตัวจริงนั่นเอง
สำหรับบัญชีของสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ก็ได้รับความนิยมในการซื้อขายบนตลาดมืดเช่นเดียวกัน เนื่องจากบัญชีเหล่านี้มีการเข้าออกของเงินที่มีมูลค่าสูงเป็นอย่างมาก ทำให้การซื้อขายบัญชีจะแพงที่สุดบน Dark Web รวมทั้ง การชำระเงินบนตลาดมืดมักจะใช้สกุลเงินดิจิทัลในการชำระเงินเช่นกัน โดยเฉพาะ Bitcoin ที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ จนทำให้เกิดเป็นความเข้าใจผิดว่า การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลนั้น ผิดกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้ว สกุลเงินดิจิทัลมีการซื้อขายจริงและได้รับการยอมรับจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ Dark Web ยังมีข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกซื้อขายเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน, ใบขับขี่, การเข้าถึงโซเชียลมีเดียในทุกแพลตฟอร์ม หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์และมัลแวร์ เป็นต้น
หากคุณสงสัยว่า ข้อมูลของคุณกำลังถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลบน Dark Web คุณสามารถป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล โดยสามารถทำได้ 5 วิธีการ ดังต่อไปนี้
วิธีแรกที่จะป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล คือ ติดตั้งเครื่องสแกนไวรัสที่มีความทันสมัย หากคุณพบว่า มีไวรัสหรือมัลแวร์ที่น่าสงสัย คุณต้องทำการปิดเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการเปิดโหมดเครื่องบินไว้ หลังจากนั้น ให้ทำการลบไวรัสและมัลแวร์ที่น่าสงสัยออกทันที
วิธีต่อมา คือ อัปเดตรหัสผ่านให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยคุณควรตั้งรหัสผ่านที่ใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก, ตัวเลข และอักษรพิเศษ เพื่อให้การคาดเดารหัสผ่านของแฮกเกอร์มีความยากมากยิ่งขึ้น
ปกติแล้ว แฮกเกอร์ส่วนใหญ่มักจะส่งลิงก์ที่เชื่อมต่อกับไวรัส เพื่อหลอกล่อผู้ใช้งานอยู่เสมอ ดังนั้น วิธีการที่จะป้องกันข้อมูลรั่วไหล คือ คุณต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนทำการคลิกลิงก์ที่น่าสงสัยเสมอ แต่หากไม่แน่ใจว่า ลิงก์ดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่? คุณควรโทรหาหน่วยงานที่ถูกอ้างอิงเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนครับ
การยืนยันตัวตนโดยใช้หลายปัจจัย (MFA) เป็นหนึ่งในวิธีป้องกันการรั่วไหลที่หลาย ๆ แอปพลิเคชันเริ่มนำมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Google Authenticator หรือ Facebook 2FA ที่ก่อนจะเข้าถึงแอปพลิเคชันนั้น คุณจะต้องทำการใส่ข้อมูลสำรองให้ถูกต้อง เพื่อเชื่อมต่อกับบัญชีอีเมลของคุณ ซึ่งการใช้ MFA จะช่วยป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์สามารถเจาะข้อมูลและรหัสผ่านของคุณได้
วิธีสุดท้ายในการป้องกันข้อมูลรั่วไหล คือ การระมัดระวังการใช้โซเชียลมีเดีย เนื่องจากในปัจจุบันการใช้โซเชียลมีเดียสามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แฮกเกอร์จะอาศัยช่องโหว่นี้ในการเข้ามาหลอกลวงผู้ใช้งาน โดยจะมาในรูปแบบการบิดเบือนข้อมูล ดังนั้นแล้ว คุณควรต้องมีสติและวิจารณญาณในการเล่นโซเชียลมีเดียให้มากที่สุด เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลครับ
บทความที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันกลโกงในรูปแบบอื่น ๆ :
Cyber Security คืออะไร? มีความสำคัญต่อเทรดเดอร์และนักลงทุนในการเทรดอย่างไรให้ปลอดภัย
อ่านด่วน ! วิธีรับมือเมื่อโดนโกง ควรทำอย่างไร ?
เช็คด่วน ! กลโกงโบรกเกอร์ อ้างเสียภาษีก่อนถอนเงิน
เช็คด่วน ! 5 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังถูกโกง
เช็คด่วน! คุณเคยตกเป็นเหยื่อหรือยัง ? รวม 3 กลโกงฮิตของมิจฉาชีพ
Dark Web เป็นเว็บไซต์ที่ไม่ได้ผิดกฎหมายในตัวมันเอง เพราะในบางประเทศ Dark Web ถูกใช้ในการสื่อสารอย่างอิสระเสรีในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่จากการไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ใช้งานนี้ทำให้ Dark Web มีความเสี่ยงและอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของบรรดาแฮกเกอร์ในการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ทำให้บางประเทศมีการเตือนให้ระมัดระวังเว็บไซต์ประเภทนี้
Dark Web ถือได้ว่า เป็นเว็บไซต์ประเภทที่ไม่สามารถค้นหาได้จาก Search Engine เช่นเดียวกับ Deep Web แต่ลักษณะการใช้งานของทั้ง 2 เว็บไซต์นี้ มีความแตกต่างกัน คือ Dark Web สร้างขึ้นเพื่อปกปิดตัวตนของผู้ใช้งาน ทำให้ถูกนำไปใช้ในเชิงผิดกฎหมาย ส่วน Deep Web จะสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานมีความเป็นส่วนตัวและป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญภายในองค์กรอื่น ๆ
Dark Web เป็นเว็บไซต์ที่ส่วนใหญ่มักใช้ในการทำเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้ในเว็บไซต์ประกอบไปด้วยสินค้าผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ยาเสพติด, อาวุธสงคราม และ การโจรกรรมข้อมูล (บ้านเลขที่, บัตรเครดิต และพาสปอร์ต) เป็นต้น
จากที่กล่าวไปข้างต้น เห็นได้ว่า Dark Web เป็นเว็บไซต์ที่มีข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะเป็นเว็บไซต์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเหล่าบรรดาแฮกเกอร์เป็นส่วนใหญ่ โดยเว็บไซต์นี้ ส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเป็นอย่างมาก หากผู้ใช้เผลอคลิกเข้าเว็บไซต์แปลกปลอมแค่คลิกเดียว เพียงเท่านั้น ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณจะถูกโจรกรรมไปเป็นที่เรียบร้อยครับ
ดังนั้นแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลของบรรดาแฮกเกอร์ คุณควรหลีกเลี่ยงการกดเข้าลิงก์ที่น่าสงสัยบนอินเทอร์เน็ต เพราะนั่นอาจเป็นหนึ่งในการหลอกลวงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแบบที่ไม่คาดคิดก็ได้ครับ
------------------------------------------------------------------------------
สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้จากแหล่ง ดังต่อไปนี้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมที่น่าใช้ : คลิกที่นี่
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ที่ควรระวัง : คลิกที่นี่
อ่านบทความเพิ่มเติม : FXBROKERSCAM