List of content

Risk Management วางแผนการลงทุนด้วยเทคนิคการบริหารความเสี่ยง!


Risk Management คืออะไร

Risk Management สำคัญจริงไหม? ในปัจจุบันผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนกันเป็นอย่างมาก และยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนเข้ามาในโลกการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้น แต่ก็มีผู้คนบางกลุ่มที่ยังผิดพลาดจากการลงทุน เพราะไม่รู้จักบริหารความเสี่ยงและวางแผนการลงทุน วันนี้ทางทีมงาน Fxbrokerscam จะมาให้ความรู้เรื่อง Risk Management ว่าคืออะไร? การรู้จัก Risk Management จะช่วยนักลงทุนอย่างไรได้บ้าง?


Risk Management คือ หลักการสำคัญที่นักลงทุนควรคำนึงถึง เพราะหากคุณมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี คุณก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการขาดทุนและเพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น

 

ทำไมต้องทำความเข้าใจ Risk Management?

Risk Management คือ หลักการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ยึดถือในการลงทุน เพราะ Risk Management ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์การลงทุนในระยะยาว แต่มันจะช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันการลงทุนให้คุณได้อย่างดีทีเดียว ดังนั้น นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจหลักการ Risk Management ให้ดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในระยะยาว

Risk Management เป็นตัวช่วยในการบริหารความเสี่ยงจริงไหม?

Risk Management สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงได้จริงครับ นักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกหลาย ๆ ท่านได้กล่าวถึง Risk Management กันอย่างมากมาย และพวกเขายังได้นำหลักการ Risk Management มาประยุกต์ใช้กับการลงทุนของพวกเขาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนชื่อดังที่ใคร ๆ ก็รู้จัก เขามักจะเน้นย้ำถึงความสำคัญในการลงทุนระยะยาวและหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะกับการเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ และ เบน เกรแฮม (Benjamin Graham) ผู้ก่อตั้งแนวคิดการลงทุน Value Investing เองก็ยังได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง โดยรักษาระยะห่าง เพื่อความปลอดภัยในการลงทุน หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า Margin of Safety นั่นแหละครับ

เกร็ดน่ารู้!

Margin of Safety หรือระยะห่างความปลอดภัยในการลงทุน เป็นแนวคิดที่ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนจากการซื้อสินทรัพย์ แนวคิดนี้จะช่วยให้คุณมีพื้นที่เผื่อสำหรับกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการทำกำไรของคุณครับ

 

ความเสี่ยงในการลงทุนคืออะไร?

ความเสี่ยงในการลงทุนคืออะไร?

เมื่อคุณตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง แน่นอนครับว่า ความเสี่ยงถือเป็นเรื่องปกติที่คุณต้องเจอและทำความคุ้นเคยกับมัน โดยความเสี่ยงในโลกการลงทุนจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk)

ความเสี่ยงจากตลาด หรือ Market Risk คือ ความเสี่ยงจากปัจจัยระดับมหภาค เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ย การเมืองและความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน โดยสิ่งที่กล่าวมานี้ จะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดทั้งหมดปรับตัวขึ้นลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง Market Risk จะเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด

2. ความเสี่ยงต่อธุรกิจ (Business Risk)

ความเสี่ยงด้านธุรกิจ คือ ความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามต่อบริษัท รวมไปถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลต่อการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ และอาจจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนควรจะได้รับในที่สุด

3. ความเสี่ยงจากการคาดการณ์ (Timing Risk)

ความเสี่ยงจากการคาดการณ์เป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดการลงทุนที่มีความผันผวน เช่น การลงทุนในตลาด Forex และ Crypto ความเสี่ยงประเภทนี้จะมาจากการคาดการณ์ราคาของตลาดในอนาคต หากคุณคาดการณ์ได้ถูกต้องก็ถือเป็นโอกาสในการทำกำไร หรือหากคาดการณ์ผิดพลาดก็จะกลายเป็นความเสี่ยงและทำให้สูญเสียเงินทุนในที่สุด

4. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk)

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงเรทสกุลเงินที่อาจจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการลงทุนของคุณ อธิบายง่าย ๆ คือ หากคุณลงทุนในหุ้นต่างประเทศแล้วค่าเงินของประเทศนั้นอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท เมื่อคุณนำหุ้นมาแปลงเป็นเงินบาท มูลค่าที่คุณจะได้รับก็จะน้อยลงนั่นเองครับ

แนวทางการใช้ Risk Management ให้เกิดผลสูงสุด

คุณสามารถใช้หลักการ Risk Management ให้เกิดผลสูงสุดได้ โดยดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 1: ระบุความเสี่ยงในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางตรงหรือความเสี่ยงทางอ้อมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของคุณ

ขั้นตอนที่ 2: ประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงว่ามีมากน้อยเพียงใด

ขั้นตอนที่ 3: วางแผนรับมือกับความเสี่ยง เมื่อทราบถึงความเสี่ยงแล้วก็ควรวางแผนจัดการความเสี่ยงให้ดี เช่น ตั้งจุดขาดทุนใหม่ หรือพิจารณากระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น ๆ

ขั้นตอนที่ 4: ติดตามแผนการลงทุน หลังจากการวางแผนการลงทุนแล้ว คุณควรติดตามผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอว่า แผนการบริหารความเสี่ยงที่ได้ดำเนินการไป เกิดผลมากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาปรับปรุงและใช้ในการลงทุนครั้งถัดไปครับ

กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงแบบ Risk Management

กลยุทธ์ Risk Management ที่สำคัญที่เหล่านักลงทุนเลือกใช้มี ดังนี้

1. กลยุทธ์กระจายการลงทุน (Diversification)

กระจายการลงทุน โดยการแบ่งเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่หลากหลาย เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาด

2. กลยุทธ์ตั้งจุดขาดทุน (Stop Loss)

กำหนดจุดขาดทุนที่แน่นอน โดยการตั้งจุด Stop Loss เมื่อราคาปรับตัวลดลงถึงจุดตัดขาดทุนที่คุณกำหนดไว้แล้ว สินทรัพย์จะถูกขายออกไปทันที เพื่อจำกัดมูลค่าการขาดทุนที่เกินอัตราที่คุณตั้งไว้

3. กลยุทธ์วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค

หมั่นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เช่น งบการเงิน ผลประกอบ และปัจจัยทางเทคนิค เพื่อคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของสินทรัพย์ในอนาคต

4. กลยุทธ์ติดตามข่าวสารและปรับแผนการลงทุน

ติดตามข่าวสารที่สำคัญและปรับปรุงแผนการลงทุนอยู่เสมอ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ที่คุณลงทุนอยู่

เปรียบเทียบระดับความเสี่ยงในการลงทุน

เปรียบเทียบระดับความเสี่ยงในการลงทุน

การลงทุนทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยงในการลงทุน ขึ้นอยู่กับว่า ความเสี่ยงของการลงทุนประเภทนั้น จะมีมากน้อยเพียงใด จากรูปภาพข้างต้นเป็นการเปรียบเทียบระดับความเสี่ยงของการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรูปแบบการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำจะเริ่มจากฐานพีระมิดและไล่ระดับความเสี่ยงไปจนถึงความเสี่ยงสูงที่อยู่บนยอดพีระมิด

คำถามที่พบบ่อย

Credit Risk Management คืออะไร?

➤ Credit Risk Management คือ กระบวนการที่ธนาคารใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ โดยกระบวนการนี้จะถูกนำไปใช้ทั้งลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

Investment Risk คืออะไร?

➤ Investment Risk คือ ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการลงทุน ความเสี่ยงประเภทนี้จะมีผลกระทบต่อการลงทุนของคุณ เช่น ผลตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่เป็นไปตามที่คุณคาดหวังหรือร้ายแรงกว่านั้น คุณอาจจะเสียเงินทุนบางส่วนไปเลยก็ได้ครับ

Risk Profile กองทุนมีกี่ระดับ?

➤ Risk Profile แบ่งระดับความเสี่ยงเป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับ 1 ความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนภายในประเทศ

ระดับ 2-5 ความเสี่ยงระดับปานกลาง-ค่อนข้างต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล

ระดับ 6-7 ความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมกลุ่มอุตสาหกรรม

ระดับ 8 ความเสี่ยงสูงมาก เช่น กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก

สรุป Risk Management คืออะไร

Risk Management ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะในการลงทุนที่นักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย หรือนักลงทุนมือใหม่ รวมถึงนักลงทุนที่มีประสบการณ์ในการลงทุนควรมีติดตัวครับ เพราะหลักการ Risk Management ถือเป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถลงทุนได้อย่างถูกต้องและเพิ่มความมั่นคงในพอร์ตการลงทุนของคุณให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและเติบโตได้ดีในระยะยาว

“ความเสี่ยง” เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน ไม่มีการลงทุนใดที่ปราศจากความเสี่ยงแบบ 100% สิ่งที่คุณควรทำ คือ บริหารความเสี่ยงนั้นให้ดี และเข้าใจสถานการณ์อยู่เสมอ

------------------------------------------------------------------------

สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้จากแหล่ง ดังต่อไปนี้ 
อัพเดตข่าวสารการลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ : คลิกที่นี่
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมที่น่าใช้ : คลิกที่นี่
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ที่ควรระวัง : คลิกที่นี่
อ่านบทความเพิ่มเติม : FXBROKERSCAM