List of content

ญี่ปุ่นอ่วม เงินเยนอ่อนค่า เหตุเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (20 เมษายน 2565)


ญี่ปุ่นอ่วม เงินเยนอ่อนค่า เหตุเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (20 เมษายน 2565)

เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นยังคงอยู่ในช่วงขาลง จึงทำให้นับได้ว่าเป็นช่วงสาหัสเลยทีเดียว ทั้งในด้านของยอดขาดดุลการค้าที่ติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 รวมไปถึงค่าเงินเยนที่ยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการดอกเบี้ยของญี่ปุ่น ที่ยังคงสวนทางกับทางสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนแห่ลงทุนในดอลลาร์สหรัฐแทนเงินเยน

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยในวันนี้ (20 เมษายน 2565) ว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าที่ 4.124 แสนล้านเยน (3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนมีนาคม 2565 นับเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นนั้น ได้เพิ่มต้นทุนในการนำเข้าให้แก่ทางญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มความยากลำบากทางเศรษฐกิจให้กับทางญี่ปุ่น ท่ามกลางวิกฤตการณ์ยูเครน ในด้านยอดส่งออกปรับตัวขึ้น 14.7% ในเดือนมีนาคม 2565 จากปีก่อนหน้า และการนำเข้าปรับตัวขึ้น 31.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การส่งออกปรับตัวขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไป เนื่องจากการเติบโตของการส่งออกสินค้าไปยังจีนชะลอตัวลง ซึ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ภาวะชะงักด้านห่วงโซ่อุปทานโลก และการระบาดของ Covid-19

ทางด้านของค่าเงินเยน สกุลเงินยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงเช้าวันนี้ (20 เมษายน 2565) ราคาเงินเยนดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงติดต่อกัน 14 วัน และยังคงทำสถิติอ่อนค่าลงต่อเนื่องติดต่อกันยาวนานที่สุดในรอบ 50 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมากนั้น เกิดจากนักลงทุนที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ หลังมีกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

หลังจากนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% จนแตะระดับ 3.5% ภายในสิ้นปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้บรรดานักลงทุนแห่ซื้อสกุลเงินดอลลาร์ และเทขายเงินเยน โดยนักวิเคราะห์หลายรายได้กล่าวว่า เหตุที่นักลงทุนเทขายเงินเยนกันอย่างต่อเนื่องนั้น เพราะคาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำต่อไป ซึ่งสวนทางกับเฟดที่ต้องการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 เมษายน 2565) นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงในการประชุมรัฐสภาญี่ปุ่นว่า “เงินเยนได้ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น”

อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่า ทางการญี่ปุ่นได้เคยเข้าแทรกแซงตลาดครั้งล่าสุด ด้วยการเทขายดอลลาร์สหรัฐฯ และทุ่มซื้อเงินเยน ในเดือนมิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียอย่างหนัก

จากที่กล่าวมาข้างต้น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากทั้งสถานการณ์โลกอย่าง วิกฤตการณ์ยูเครน และเฟดที่เร่งปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์ในประเทศเอง อย่างการยอดขาดดุลการค้าที่ติดต่อกันหลายเดือน และการที่ยอดส่งออกปรับตัวขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไป ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงซบเซาอยู่ อย่างไรก็ดี เราควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันต่อไป