List of content

ดอลลาร์แข็งค่า รับคาดการณ์เฟดเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย (19 เมษายน 2565)


ดอลลาร์แข็งค่า รับคาดการณ์เฟดเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย (19 เมษายน 2565)

จากสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกดูเหมือนยังไม่บรรเทาลง หลาย ๆ ประเทศเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ สหรัฐฯ เองก็เช่นกัน มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% จนแตะระดับ 3.5% ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

จากเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้เงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่าลงจากวานนี้อยู่ที่ 33.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเคลื่อนไหวตามทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก ผลมาจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ คาดว่าจะกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท วันนี้จะอยู่ที่ 33.60 - 33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดย THAI BAHT FIX 3M (18 เมษายน 2565) อยู่ที่ระดับ 0.35397% และ THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.38719%

โดยผลจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐนั้น เกิดขึ้นมาจาก นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จะปรับขึ้นประมาณ 0.5% ในการประชุมกลางเดือนพฤษภาคม 2565 และคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 0.5% ในการประชุมครั้งถัดไป อย่างไรก็ตาม นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาขาเซนต์หลุยส์คาดการณ์ว่า FED อาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้นถึง 0.75% อ้างอิงจากที่ FED เคยปรับขึ้นถึง 0.75% มาก่อนแล้วในปี 2537 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในตอนนั้น ก็ยังสามารถขยายตัวได้เป็นเวลานานนับสิบปี เขากล่าวเสริมว่า “ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจาก FED เพิ่งจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว ในการประชุมเดือนมีนาคม 2565 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่งกว่าแนวโน้มระยะยาวทั้งในปี 2565 และ 2566” อีกทั้งเขายังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่ระดับที่ต่ำกว่า 3%  

อัปเดตข่าวปัจจัยเพิ่มเติม

1. ค่าเงินเยนอยู่ที่ 127.25 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำนิวไฮในรอบ 20 ปี จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 126.60 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

2. ค่าเงินยูโรอยู่ที่ 1.0772 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร จากเย็นวันอังคารที่ระดับ 1.0792 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร

3. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 33.663 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

4. บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปียังคงพุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปีในวันนี้ (19 เมษายน 2565) ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED

5. สัญญาทองคำในตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันจันทร์ (18 เมษายน 2565) โดยได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ

6. นักลงทุนกำลังจับตารายงานสรุปการประชุมภาวะเศรษฐกิจ หรือ BEIGE BOOK ของ FED ที่จะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ (20 เมษายน 2565) ซึ่งจะบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ FED

7. ประธานธนาคารโลกประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจาก 4.1% ไปอยู่ที่ 3.2% จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังปะทุอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบของสงครามยังคงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ นักลงทุนควรที่จะจับตาดูการนโยบายต่าง ๆ ของแต่ละประเทศที่จะส่งผลถึงค่าสกุลเงินประเทศนั้น ๆ ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน