จากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นับเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ทำให้หลาย ๆ ประเทศเข้ามามีบทบาท เพื่อกดดันทางรัสเซียให้ยกเลิกภารกิจดังกล่าว ทั้งการแบนด้านพลังงาน การคว่ำบาตรในหลาย ๆ ประเทศ รวมไปถึงการห้ามนำเข้าน้ำมัน
โดยหนังสือพิมพ์ The Times รายงานโดยอ้างคำพูดของนายวาลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ว่า สหภาพยุโรป (EU) เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ที่เรียกกว่า "การคว่ำบาตรอันชาญฉลาด (Smart Sanctions)" ต่อรัสเซีย ด้วยการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้กับรัสเซียมากที่สุด และขณะเดียวกันก็ลดความเสียหายที่ทาง EU จะได้รับให้เหลือน้อยที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม นายดอมบรอฟสกิสระบุว่า ยังไม่มีการตกลงรายละเอียดที่ชัดเจน ณ ตอนนี้ แต่อาจรวมไปถึงการค่อย ๆ ลดการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย หรือเรียกเก็บภาษีนำเข้า สำหรับการส่งออกที่มีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ รัสเซียถือว่าเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรป โดยคิดเป็น 26% ของการนำเข้าน้ำมันของ EU ในปี 2563 ซึ่ง 1 ใน 3 ของพลังงานจากผลิตภัณฑ์น้ำมันและปิโตรเลียมของ EU ใช้ไปกับภาคการขนส่งจนถึงการผลิตสารเคมี โดยทางยูเครนและประเทศ EU บางประเทศ รวมถึงโปแลนด์และลิทัวเนียต้องการระงับนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย ขณะที่เยอรมนีและฮังการีไม่เห็นด้วยกับการระงับนำเข้าน้ำมันในทันที
ทางด้านของกลุ่มน้ำมันปาล์ม อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565 ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากน้ำมันปาล์มถือเป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก และมีการใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าหลาย ๆ อย่าง ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวขึ้น 3% อนึ่ง ในเดือนมกราคม 2565 อินโดนีเซียเคยประกาศระงับการส่งออกมาแล้ว ก่อนที่จะยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2565
อย่างไรก็ตาม ภาวะสงครามที่ยังไม่จบสิ้นนั้น ยังคงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอีกมาก ทั้งด้านเงินเฟ้อ ปัจจัยด้านพลังงาน การขนส่ง นักลงทุนควรที่จะศึกษาแนวโน้มของตลาดให้ดี ก่อนการลงทุน