List of content

นโยบายที่ผ่อนปรนของ BOJ อาจทำให้เงินเฟ้อ


นโยบายที่ผ่อนปรนของ BOJ อาจทำให้เงินเฟ้อ

ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าต่อเนื่อง เลวร้ายสุดในรอบหลายเดือน นักเศรษฐกิจจับตามองอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ที่สวนทางประเทศอื่น ๆ

USD/JPY ลดลง 0.46% มาอยู่ที่ 123.33 โดยข้อมูลของญี่ปุ่นที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ได้แสดงอัตราส่วนตำแหน่งงาน/ใบสมัคร ที่ 1.21 และอัตราการว่างงาน ที่ 2.7% ในเดือนกุมภาพันธ์

การอ่อนค่าของเงินเยนในครั้งนี้ถือว่าหนักสุดในรอบ 16 เดือน และต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2015 ซึ่งร่วงลงมาราว 2.4% โดยที่การอ่อนค่าในครั้งนี้มาจากหลายปัจจัย แต่เหตุผลสำคัญคือ การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของ BOJ ที่สวนทางกับจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 

โดย BOJ ยังคงดำเนินนโยบายนี้ไปอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากการที่ BOJ เข้าซื้อพันธบัตรมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์มากกว่าเพียงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ และจะยังคงซื้อต่อไป เพื่อรักษาผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดที่ค่อนข้างแข็งกร้าวและมีการคุมเข้มทางการเงินมากกว่าของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

จากการที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนบางคนออกมาวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า อาจทำให้ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาเงินเฟ้อจากการดำเนินนโยบายแบบผ่อนปรนของ BOJ ที่ดูเหมือนจะยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ

การแสดงจุดยืนของ BOJ ในครั้งนี้เห็นได้จากการให้ความสำคัญต่อนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษในการประชุมครั้งล่าสุดของ BOJ ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปัจจัยที่เป็นตัวกดดันอย่างเงินเฟ้อ

และจากท่าทีของ BOJ ในครั้งนี้ ได้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า หากค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้เงินเฟ้อมีความรุนแรงขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มต้นทุนในการนำเข้า ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องมีการสร้างแรงกดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

แม้แต่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Deutsche Bank AG (ธนาคารเยอรมัน) อย่าง Kentaro Koyama เองก็ได้ออกมากล่าวกับ Reuters ว่า “ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคครัวเรือนกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินเยนอาจเพิ่มขึ้นได้”

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น Shunichi Suzuki ยังออกมากล่าวว่า “หากอัตราเงินดอลลาร์/เยนเกิน 125 ผมคาดว่าอาจจะมีการแทรกแซงทางวาจาที่รุนแรงกว่านี้ และญี่ปุ่นเองก็จะระมัดระวังการเคลื่อนไหวของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง"

ดังนั้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องมีการติดตามการดำเนินนโยบายของ BOJ อย่างใกล้ชิดว่าจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป เพราะถ้าหากนโยบายการผ่อนปรนนี้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นในญี่ปุ่นจริง ประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวเร่งเร้า สิ่งเหล่านี้จะทำให้ BOJ เปลี่ยนท่าทีในอนาคตหรือไม่ต่อไป