สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยบ้านเราขณะนี้ยังปรับเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองแล้ว โดยล่าสุด สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.28% โดย อยู่ที่ระดับ 104.10
ซึ่งตัวเลขที่เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.23 ในเดือนมกราคม นับว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่ปี 2551
โดยทางกระทรวงพาณิชย์ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากส่วนของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและร่วมไปถึงสินค้าอาหารเครื่องดื่มประเภทไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ขยับปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาของวัตถุดิบด้วย
ขณะที่หลายฝ่ายออกคาดการณ์ถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี โดยแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจที่จะเริ่มฟื้นตัวเมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมา ร่วมไปถึงการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่อาจจะส่งผลกระทบกับธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับขึ้นอันตราดอกเบี้ย
และแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมข้างหน้านี้ คาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูงตามเดิม จากราคาพลังงานที่ยังสูง ทั้งในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นไปอีกด้วย ซึ่งภาวะเงินเฟ้อในไทยจะขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจในไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดและเล็ก จึงหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อของโลกได้ค่อนข้างยาก
สถานการณ์ในประเทศไทยในปัจจุบันถือว่ามีความใกล้เคียงและดูเหมือนจะเริ่มเข้าสู่กับภาวะ "Stagflation" ที่มาจาก 2 คำระหว่าง“Stagnation” และคำว่า “Inflation” ซึ่งโดยปกติภาวะ “Stagflation” จะเกิดขึ้นในภาวะขาดแคลนอาหารหรือข้าวยากหมากแพง ถึงแม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เกิดความเสียหายจากภาคการผลิต แต่เกิดจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นการขาดแคลนด้านพลังงานจนส่งต่อภาคการผลิต แต่เป็นการความกังวลว่าราคาพลังงานนั้นจะปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบในส่วนภาคการผลิตแทนครับ
อย่างไรก็ตามเราต้องคอยติดตามการแก้ไขปัญหาของพลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเราว่าจะรับมือกับราคาสินค้าที่เริ่มปรับตัวแพงขึ้นนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ประเทศเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากไปมากกว่านี้